วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การบริหารจัดการทรัพยากร

การบริหารจัดการทรัพยากร

สาระสำคัญ
                
ทรัพยากรเป็นสิ่งมีค่าที่หน่วยเศรษฐกิจทั้งหลายควรเลือกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ลดความสูญเปล่าและเพิ่มคุณค่าให้แก่ทรัพยากรที่ตนเองถือครองอยู่ หน่วยเศรษฐกิจต่างๆไม่ว่าจะเป็นหน่วยธุรกิจหรือครัวเรือน ต้องเผชิญทางเลือกต่างๆอยู่เสมอ ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจอย่างชาญฉลาดให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างประหยัดและคุ้มค่า ซึ่งก็คือการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสมนั่นเอง
                โดยพื้นฐานแล้วหน่วยธุรกิจต้องเข้าใจกระบวนการผลิต และบริหารจัดการให้หน่วยธุรกิจผลิตสินค้า และบริการด้วยต้นทุนต่ำที่สุด และมีการพัฒนาปรับปรุงองค์กรของหน่วยธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง สามารถบรรลุเป้าหมายในการบริหารทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
1. การผลิตและต้นทุนการผลิต
                
การผลิตเป็นกระบวนการแปรสภาพทรัพยากรให้เป็นสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดไว้ ในสมัยก่อนหลายคนอาจเข้าใจว่า การผลิตหมายถึงสินค้าสำเร็จรูปที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่ที่จริงแล้วการผลิตยังครอบคลุมถึงธุรกิจการค้า หรือการคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม การท่องเที่ยวหรือธุรกิจบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการก็ตามสิ่งที่เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรก คือ ต้นทุนการผลิต
                ต้นทุนการผลิต หมายถึง รายจ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตในรูปของสินค้าหรือบริการ ซึ่งในอนาคตผลผลิตดังกล่าวสามารถทำให้เกิดผลตอบแทนหรือรายได้กลับมา]
                ธุรกิจประเภทบริการ ต้นทุนจะหมายถึง ค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ลูกค้า
                ธุรกิจประเภทจัดจำหน่ายสินค้า ต้นทุนจะหมายถึง ราคาสินค้าที่ซื้อมาเพื่อนำมาจำหน่ายต่อแก่ลูกค้า
                ธุรกิจประเภทผลิตสินค้า ต้นทุนจะหมายถึง เงินที่จ่ายไปเพื่อซื้อวัตถุดิบ และส่วนประกอบอื่นๆ นำเข้ามาสู่กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนดไว้ ธุรกิจประเภทนี้จะมีการจัดแบ่งต้นทุนดังนี้
                    1.1 ต้นทุนที่แบ่งตามค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
                            1) ต้นทุนวัตถุดิบ หมายถึง สิ่งที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้านั้นๆ เช่น ในโรงงานผลิตรถยนต์ ส่วนประกอบที่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่สำคัญของการผลิตรถยนต์ เช่น ล้อ ตังถัง เครื่องยนต์ กระจก ฯลฯ
                            2) ต้นทุนแรงงาน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าแรงงานที่ใช้ในการนำวัตถุดิบมาแปรสภาพให้เป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนดให้ โดยส่วนใหญ่ต้นทุนแรงงานสามารถคำนวณได้โดยคิดค่าจ้างต่อชั่วโมง ต่อวัน หรือต่อเดือน
                            3) ต้นทุนอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบของการผลิต (ค่าโสหุ้ย) หมายถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิต เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทางอ้อม เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าประกันภัยต่างๆ ค่าภาษี เป็นต้น
                    1.2 ต้นทุนที่แบ่งตามพฤติกรรมของต้นทุน
                            1) ต้นทุนคงที่ จะมีการผลิตหรือไม่ก็ตาม ธุรกิจยังคงเกิดต้นทุนนี้ขึ้นมา เช่น ค่าเช่าโรงงาน เงินเดือนผู้จัดการ   โรงงาน ภาษี เป็นต้น แม้จะไม่มีการผลิตก็ตาม บริษัทก็จำเป็นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้
                            2) ต้นทุนผันแปร คือ ต้นทุนที่ผันแปรไปตามระดับการผลิต ส่วนใหญ่จะได้แก่ต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนแรงงาน เช่น เมื่อระดับการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต้นทุนแปรผันก็จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ด้วย เพราะต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบก็ต้องใช้เพิ่มขึ้นไปตามจำนวนที่ผลิตเพิ่มด้วย
                            1.3 ต้นทุนอื่นๆ ในเชิงเศรษฐศาสตร์
                                    - ต้นทุนค่าเสียโอกาส คือ ต้นทุนการเสียโอกาสในการเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการหรือทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแทนที่จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่น เกษตรกรคนหนึ่งปลูกทำสวนสตรอเบอรี ต่อมาเกษตรอำเภอแนะนำให้เกษตรว่า หากปลูกองุ่นควบคู่ไปด้วยจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100,000 บาท แต่เกษตรกรไม่สนใจคำแนะนำ เนื่องจากตนไม่มีความรู้ความชำนาญพอในการปลูกองุ่น เกษตรก็จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเท่ากับ 100,000 บาท หรือ เท่ารายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการปลูกองุ่นเพิ่ม แต่ไม่ได้ทำ
                                    - ต้นทุนจม คือต้นทุนที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ เช่น การซื้อเครื่องจักร เช่น ซื้อเครื่องจักรมามูลค่า 500,000 บาท 5 ปีผ่านไป ทางโรงงานต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และนำเครื่องจักรเก่าออกขายได้ราคา 100,000 บาท เพราะฉะนั้นเครื่องจักรนี้จะมีต้นทุนจมเท่ากับ 400,000 บาท
2. การบริหารจัดการ
                
เมื่อเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการได้แจกแจงเกี่ยวกับต้นทุนต่างๆ ที่สำคัญของธุรกิจแล้ว ขั้นตอนต่อมาที่จะต้องคำนึงถึงคือการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่หรือจะจัดมาให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุดต่อองค์กร  การบริหารจัดการที่ดีจึงมีส่วนช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปตามแผนและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกประเภทและลักษณะของธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จำเป็นต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการที่ทั้งสิ้น ดังนั้นบทบาทของผู้ประกอบการจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีด้วย
                2.1 บทบาทผู้ประกอบการ
                        ผู้ประกอบการเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากหน่วยธุรกิจใดๆ จะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ ผู้ประกอบการจะต้องเข้าสภาพตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป คือ มีวิสัยทัศน์ที่ดี อันเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมการวางแผนและการควบคุมทั้งหมด การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันถ้าบริษัทใดผลิตสินค้าหรือบริการด้วยต้นทุนที่ต่ำได้มาตรฐานและคุณภาพดีกว่า รวมถึงการผลิตได้เร็วมีประสิทธิภาพทันกำหนดตามที่ลูกค้าต้องการ บริษัทนั้นย่อมได้เปรียบคู่แข่งโดยชัดแจ้ง ดังนั้นบทบาทของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องศึกษา โดยเฉพาะบุคคลที่กำลังจะเริ่มเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่มองหาความสำเร็จ จำเป็นต้องมองการณ์ไกล นอกจานี้ผู้ประกอบการจะต้องอาศัยทักษะในหลายด้าน เช่น ด้านความเป็นผู้นำ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ด้านการตัดสินใจ ด้านเจรจาต่อรอง และการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งกันด้วย
                2.2 หน่วยธุรกิจและการบริหารจัดการสมัยใหม่
                        1) ความหมายของหน่วยธุรกิจประเภทต่างๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้
                            - แบ่งตามประเภทของธุรกิจ
                                (1) ธุรกิจประเภทบริการ คือ ธุรกิจที่ให้ขายการบริการเป็นสำคัญ เช่น ธุรกิจประเภทโรงแรม โรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิงต่างๆ เป็นต้น
                                (2) ธุรกิจประเภทจัดจำหน่ายสินค้า คือ ธุรกิจที่เปรียบเสมือนคนกลางในการรับสินค้าจากผู้ผลิตมาขายต่อให้ถึงมือผู้บริโภค เช่น ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์โตร์ และร้ายสะดวกซื้อ เช่น ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
                                (3) ธุรกิจประเภทผลิตสินค้า คือ ธุรกิจที่ผลิตสินค้าเป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะจัดจำหน่ายสินค้าโดยตรงเองด้วย เช่น ธุรกิจโรงงานผลิตรองเท้า เครื่องหนัง รถยนต์ เสื้อผ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องประดับ เป็นต้น
                            - แบ่งตามลักษณะของเจ้าของธุรกิจ
                                (1) ธุรกิจทีมีเจ้าของเพียงคนเดียง คือ ธุรกิจที่มีการจัดการแบบคนเดียวหรืออีกนัยหนึ่งมีเจ้าของเพียงคนเดียว และบริหารคนเดียว การจัดการแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนไม่มาก ข้อดีของธุรกิจที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว คือกำไรที่ได้จะเป็นของเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อเสียคือการจัดการแบบคนเดียว ทำให้การดำเนินธุรกิจไม่คล่องตัวเนื่องจากคนเดียวต้องทำทุกหน้าที่และบางครั้งอาจขาดสภาพคล่องทางการเงิน
                                (2) ธุรกิจที่มีเจ้าของจำนวน 2-3 คน หรือธุรกิจประเภทห้างหุ้นส่วน คือ การดำเนินธุรกิจที่มีคน 2-3 คน ร่วมกันจัดตั้งบริษัทโดยร่วมกันบริหารจัดการ แบ่งเป็นความคิดความรู้ใหม่ๆ รวมถึงการแบ่งปันผลกำไรอย่างเท่าเทียมกัน ขนาดของธุรกิจอาจเป็นได้ตั้งแต่ระดับเล็กถึงกลาง โดยหุ้นส่วนแต่ละคนอาจร่วมกันลงทุนอย่างเท่าๆกัน ซึ่งการบริหารแบบนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าธุรกจิที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว
                                (3) บริษัทหรือบรรษัท เป็นลักษณะองค์การธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกาบริหารจัดการแบบมืออาชีพ มีการแบ่งหน้าที่ฝ่ายงานอย่างชัดเจน และแยกส่วนความเป็นเจ้าของและการบริหารออกจากกัน ซึ่งจะแตกต่างกันกับธุรกิจที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว และธุรกิจที่มีเจ้าของจำนวน 2-3 คน ที่เจ้าของกิจการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานด้วย    บริษัทสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและแบ่งตามความเป็นเจ้าของ ถ้าแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง บรรษัทสามารถแบ่งออกได้เป็น บริษัทที่มุ่งแสวงหากำไร กับบริษัทที่ไม่มุ่งแสวหากำไร หรือถ้าแบ่งตามความเป็นเจ้าของสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
                                      - บริษัทจำกัด ที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนไม่มาก
                                      - บริษัท(มหาชน) แปลตรงตัวคือ บริษัทที่สามารถให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมเป็นเจ้าของได้ ซึ่งโดยปกติจะเป็นบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเข้ามาจดทะเบียนแล้ว บริษัทจะเปลี่ยนชื่อโดยมีคำว่า มหาชนในวงเล็บต่อท้ายด้วย เช่น กรณีที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยทางการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทศท.คอ์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น หากเป็นบริษัท(มหาชน) จะมีวิธีการระดมทุนหรือการรวบรวมเงินเพื่อนำไปดำเนินหรือขยายกิจการด้วยการเสนอขายหุ้นสำหรับบุคคลหรือนักลงทุนทั่วไปได้เข้ามาจับจอง โดยปกติแล้วจะกำหนดราคาที่แตกต่างกันไปตามแต่มูลค่าของบริษัท ประชาชนที่ซื้อหุ้นจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลทุกปี
                    2.3 แนวทางการบริหารจัดการที่ดี แนวทางการบริหารจัดการที่ดีเป็นจำเป็นต่อผู้บริหารในปัจจุบัน เช่น บริษัทประเภทบรรษัท เนื่องจากผู้บริหารในบริษัทประเภทนี้ไม่เพียงแต่พยายามทำกำไรเพื่อผู้ถือหุ้นให้มากที่สุด แต่จำเป็นต้องมีหลักจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ จึงมีคำศัพท์ว่า หลักธรรมาภิบาล หมายถึง การควบคุมและการบริหารการจัดการขององค์การด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง องค์กร ผู้หุ้น และจะไม่ทำความเสียหายต่อบริษัท ผู้บริหารจะต้องแสดงความรับผิดชอบในการกระทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และปฏิบัติกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเสมอภาค การที่บริษัทจำเป็นต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจนั้น เนื่องจากในโลกธุรกิจปัจจุบัน การติดต่อประสานงาน การทำงานเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจในปัจจุบันอาจจะพบเจอ หรือบางธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ ความจัดแย้งทางผลประโยชน์
                    การจัดตั้งกลไกป้องกันและฝ่ายตรวจสอบภายในกลไกควบคุม จะเป็นกลไกที่ช่วยป้องกันและควบคุมการเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้บ้าง ดังนี้
                        1) กลไกที่ช่วยป้องกัน มิได้หมายความถึงการนำกำแพงสูงมากั้นเพื่อมิให้ฝ่ายอื่นๆ เข้ามารับรู้การทำงานภายในฝ่ายได้ แต่กลไกที่ช่วยป้องกัน คือกลไกที่แต่ละฝ่าย หน่วยงาน หรือแผนกจะรักษาความลับและผลประโยชน์ของลูกค้าไว้ไม่นำไปเผยแพร่ให้บุคคลหรือฝ่ายอื่นรู้ โดยแต่ละฝ่ายที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จะถูกกำหนดเขตพื้นที่หวงห้ามเฉพาะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า-ออก บุคคลที่สามารถผ่านเข้าออกได้ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องจริงกับงานที่ทำอยู่เท่านั้น และติดต่อเท่าที่จำเป็น เนื่องจากข้อมูลหรือเอกสารภายในหากรั่วไหลออกสู่ภายนอกอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น
                        2) กลไกที่ช่วยควบคุม หรือฝ่ายตรวจสอบภายใน เป็นฝ่ายที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริษัท โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารแต่อย่างใด ทำหน้าที่หลักในการตรวจสอบ และควบคุมดูแลการทำงานภายในของบริษัทตั้งแต่ระดับบริหารถึงระดับปฏิบัติการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแล เป็นหูเป็นตาให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อดูว่าผู้บริหารบริษัทได้ดำเนินงานอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่รัฐกำหนดไว้
3. แนวทางาการบริโภค
                
การบริโภค หมายถึง การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของแต่ละบุคคล ผู้บริโภคจึงต้องมีแนวทางที่เหมาะสมในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ
                    3.1 พฤติกรรมการบริโภคของตนเองและครอบครัว  พฤติกรรมการบริโภคของตนเองและครอบครัวในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากในสมัยก่อนค่อนข้างมาก เนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้
                            1)โครงสร้างทางสังคมและสถานะทางสังคม เช่น การซื้อสินค้ายี่ห้อดังๆเพื่อเสริมฐานะ
                            2) ความเชื่อต่างๆ เช่น ถ้ารับประทานไวน์วันละแก้วจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจ
                            3) ข้อมูลด้านโภชนาการ เช่น การรับประทานผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ
                            4) เทคโนโลยี
                            5) สื่อต่างๆ เช่นโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ต่างๆ
                    3.2 สิทธิและการคุ้มครองตนเอง ครอบครัวและบุคคล   การบริโภคของบุคคลเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้บริโภคควรได้รับทราบถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้บริโภคทุกคนควรศึกษาไว้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เพื่อป้องกันมิให้ผู้ขายสินค้าและบริการ มาเอารัดเอาเปรียบ
                        สาระสำคัญดังนี้
                            1) สิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลและสรรพคุณที่บรรยายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจในการซื้อสิ่งนั้นๆ
                            2) สิทธิที่ผู้บริโภคมีอิสระในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเองตามความสมัครใจและโดยปราศจากการชักจูงจากผู้ประกอบการที่ไม่เป็นธรรม
                            3) สิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคหรือใช้บริการโดยมีข้อแนะนำและคำเตือนระบุไว้
                            4) สิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอาเปรียบ
                            5) สิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายหากผู้ประกอบการละเมิดสิทธิในข้อ 1,2,3,4  เพื่อให้สิทธิเหล่านี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ จึงได้มีการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่ช่วยเหลือ รับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับความรู้และข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างทั่วถึง ตลอดจนติดตามสอดส่องดูและพฤติกรรมของผู้ประกอบการไม่ให้เอารัดเอาเปรียบต่อผู้บริโภคได้
                3.3 แหล่งข้อมูลและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในปัจจุบันการแข่งขันที่จะขายสินค้าและบริการสูง ทำให้ผู้บริโภคจะต้องศึกษาข้อมูลไว้ให้ดี เพื่อประสิทธิภาพต่อผู้บริโภคเอง นอกเหนือจากหน่วยงานของราชการ คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสามารถเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ www.thaicomsumer.net ผู้บริโภคสามารถหาความรู้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเองและผู้บริโภคเองยังต้องใส่ใจในข้อมูลอื่นๆ ด้วยตนเองด้วย เช่น การศึกษาเรื่องการผูกขาดสินค้าและบริการและกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกานการผูกขาดสินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่คอยดูแลสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคควรทราบไว้ เช่น สายด่วนเพื่อผู้บริโภค ได้แก่ สายด่วนอย.1556 สายด่วนอนามัย 1675
4. การออมทรัพย์ในระบบธนาคาร
                
โดยทั่วไปการออมของแต่ละบุคคลถูกต้องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างเช่น ความสามารถในการออม ค่านิยมของการออม และปัจจัยอื่นๆที่เอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ออม เช่น อัตราดอกเบี้ย สิทธิประโยชน์ทางภาษี ระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ต้องให้ผู้ออมเดินทางไปสถาบันการเงินด้วยตนเอง
                ประเภทของการออมทรัพย์ในระบบธนาคาร สามารถแยกได้ดังนี้
                        1) ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank)
                            ธนาคารพาณิชย์ หมายถึง การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้กำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง มีหน้าที่หลัก คือ รับฝากเงินจากประชาชน และให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของเงินเป็นดอกเบี้ย แบ่งเป็น
                            - ฝากประจำ มีกำหนดแน่นอนให้เจ้าของเงินทวงถาม ผู้ฝากจะได้รับดอกเบี้ยตามระยะเวลาและตามที่ธนาคารแต่ละที่กำหนดไว้ ซึ่งจะแบ่งระยะเวลาการฝากเป็น 3, 6, และ 12 เดือน
                            - ฝากเผื่อเรียก การจ่ายเงินแก่เจ้าของเงินเมื่อไรก็ตามที่ทวงถาม
                            - ฝากกระแสรายวัน การจ่ายเงินแก่เจ้าของเงินทวงถามได้ทุกเมื่อ ผู้ฝากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยในการฝากแบบนี้ แต่จะได้สมุดเช็คไว้ใช้สำหรับการฝากถอนแทน
                        2) ธนาคารพิเศษ
                            2.1 ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารของรัฐ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2498 เพื่อนำเงินฝากของประชาชนและผลประโยชน์ทางการค้ามาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ เช่น รับฝากเงินประเภทต่างๆ พันธบัตรออมสิน สลากออสินพิเศษ ฝากสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว ฝากเคหะสงเคราะห์ ฯลฯ
                            2.2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นธนาคารของรัฐ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 เพื่อส่งเสริมการนำเงินไปลงทุนเกี่ยวกับการซื้อที่ดิน การสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
                            2.3 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นธนาคารของรัฐ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรของประเทศ ให้เกษตรกรกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ
                    เงินออม คือ เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายของบุคคลในแต่ละเดือน ซึ่งโดยทั่วไปเรามักนำเงินออมไปฝากไว้กับธนาคารต่างๆ โดยจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยหรือถ้าเรียกโดยทั่วไปว่า อัตราผลตอบแทนจะไม่เท่ากัน โดยจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาของการฝากเงิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เงินฝากที่มีระยะเวลานานจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากระยะสั้นที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากธนาคารได้บวกค่าความเสี่ยงที่ผู้ฝากต้องฝากเงินไว้กับธนาคารนั้นเป็นเวลานาน ซึ่งตลอดระยะเวลาของการฝากเงิน อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้ผู้ฝากเงินอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ หรือเรียกว่า ความเสี่ยง
                    ความเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอนว่า การที่ผลตอบแทนที่ได้รับจริงนั้น อาจผิดไปจากที่คาดคิดหรือกำหนดไว้ ดังนั้น ผู้ฝากเงินจึงควรระวังสิ่งเหล่านี้ หลายคนเข้าใจผิดว่า การฝากเงินกับธนาคารนั้นปลอดภัยสูง แต่แท้ที่จริงแล้ว การฝากเงินกับธนาคารก็มีความเสี่ยงเหมือนกับการลงทุนในรูปแบบอื่นเช่นกัน เพียงแต่น้อยกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น