วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ

แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญมากกับทุกๆ ประเทศในโลก ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีระดับของการพัฒนาอยู่ในระดับใดก็ตาม (สูง ปานกลาง หรือต่ำ) สำหรับประเทศไทยซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาในระดับ ปานกลาง (ประเทศกำลังพัฒนา) ก็เช่นเดียวกันยังจำเป็นต้องปรับสภาพของเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับในบทนี้เราจะมาศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และผลการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน
ลักษณะของประเทศกำลังพัฒนา
ลักษณะสำคัญบางประการของประเทศกำลังพัฒนามีดังนี้
1.             ลักษณะทางด้านเศรษฐกิจ 
(ก) ลักษณะทั่วไป
1.             ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตเน้นด้านธัญพืชและวัตถุดิบมากกว่าเลี้ยงสัตว์
2.             อาชีพหลักของประเทศคือการผลิตขั้นต้น ได้แก่ การเกษตรกรรม ป่าไม้ เหมืองแร่
3.             สินค้าออกของประเทศเป็นอาหารและวัตถุดิบ
4.             มูลค่าและปริมาณการค้าระหว่างประเทศมีน้อย ประสบปัญหาด้านการตลาด
5.             ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลในเกณฑ์ต่ำ ยากจน มีการออมและสะสมทุนน้อย
6.             มีการว่างงานแฝงหรือทำงานไม่เต็มความสามารถเป็นจำนวนมาก
(ข) ลักษณะด้านการเกษตร 
1.             การถือครองที่ดินขนาดเล็ก
2.             เทคนิคการผลิตต่ำ
3.             เกษตรกรมีหนี้สินมาก
4.             การคมนาคมขนส่งผลผลิตไม่สะดวก
5.             การจัดการตลาดไม่เหมาะสม มีผลผลิตมากทำให้ราคาตก
6.             ขาดการพัฒนาคุณภาพของดิน เกิดปัญหาดินเสื่อมและพังทลาย
2.             ลักษณะด้านประชากร
1.             อัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ในเกณฑ์สูง
2.             อายุขัยเฉลี่ยของประชากรค่อนข้างต่ำ
3.             การบริการด้านการอนามัยและสาธารณสุขไม่ทั่วถึง
4.             เกิดปัญหาทุพโภชนาการ
5.             อัตราความเป็นเมืองอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทมากเกินไป

3.             ลักษณะด้านวัฒนธรรม
1.             ประชาชนส่วนใหญ่ยึดถือวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม
2.             ชนชั้นกลางมีจำนวนน้อย
3.             ระดับการศึกษาของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
4.             ฐานะทางสังคมของสตรีค่อนข้างต่ำ
5.             การใช้แรงงานเด็กมีอัตราสูง และถูกเอาเปรียบค่าจ้างแรงงาน

4.             ลักษณะด้านเทคโนโลยี
1.             ความเจริญด้านเทคโนโลยีอยู่ในระดับต่ำ มีการพัฒนาค่อนข้างช้าและล้าหลัง
2.             การคมนาคมขนส่งและการสื่อสารไม่ทันสมัยและไม่เพียงพอ
3.             ผลผลิตโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะขาดการนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจคือบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐบาลในการที่จะพัฒนาประเทศ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ แบบแผน วิธีดำเนินการ และการกำหนดหน่วยปฏิบัติการอย่างเป็นระบบแบบแผน
การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้วว่ามีความสำคัญในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ทุกๆ ประเทศในโลกมีความตื่นตัวในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
ประเภทของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.             แผนระยะยาว (perspection plan) เป็นแผนระยะยาวที่วางกรอบและทิศทางการดำเนินนโยบายอย่างกว้างๆ รวมทั้งมีการประมาณการรายการสำคัญๆอย่างกว้างๆ อาทิ เป้าหมาย ผลผลิตมวลรวม การใช้จ่ายในภาครัฐและเอกชน การบริโภคและการลงทุน รวมถึงการนำเข้าและส่งออก สินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแผนระยะยาวจะเป็นกรอบให้แก่แผนระยะกลาง
2.             แผนระยะกลางหรือแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (mediumterm or development plan) เป็นแผนระยะ 4-6 ปี ซึ่งเป็นแผนที่วางตามกรอบของแผนระยะยาว
3.             แผนปรับปรุงประจำปี (annual plan) เป็นแผนที่จะต้องจัดทำขึ้นทุกปี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าแผนประจำปี เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆทั้งในและต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งสามารถทำให้การดำเนินการและผลที่ได้รับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นแผนนี้จึงเป็นแผนที่ใช้ในการปรับให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในขณะนั้นๆให้มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และแผนนี้ยังใช้ประกอบในการจัดทำงบประมาณประจำปีอีกด้วย
วัตถุประสงค์ของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
1.             เพิ่มรายได้ประชาชาติและรายได้ที่แท้จริงของบุคคล
2.             ยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น
3.             กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
4.             กระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างยุติธรรม
5.             การจ้างงานเพิ่มอัตราสูง ปัญหาการว่างงานลดน้อยลง
6.             การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ มีดุลการค้าและดุลการชำระเงินที่อยู่ในสภาวะเกินดุลหรือขาดดุลน้อยลง
การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย
ประเทศไทยได้เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 การดำเนินการวางแผน ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก โดยมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจรับผิดชอบในการกำหนดแผน และนโยบายอันเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีการประสานงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงบประมาณ
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีการวางแผนและเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 ซึ่งถือว่าเป็นปีเริ่มต้นในการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7
อนึ่ง แผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับต่างมีรูปแบบการดำเนินนโยบายและวัตถุประสงค์ต่างกันไปตามปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนั้น ซึ่งสามารถสรุปเป้าหมายและผลของการพัฒนาแต่ละแผนพัฒนาฯ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509)
1.             สาระสำคัญ
1.             เน้นการลงทุนสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (infra-structure) ของประเทศ ได้แก่ การสร้างทางหลวงสายประธาน การพัฒนาเส้นทางรถไฟ การปรับปรุงการประปา และการสร้าง เขื่อนเพื่อการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น
2.             ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในด้านอุตสาหกรรม และเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าสำเร็จรูป
3.             ส่งเสริมการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
2.             ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผน ประสบความสำเร็จในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.1 ต่อปี มูลค่าสินค้าออกเพิ่มมากขึ้น มีสินค้าออกที่เป็นรายได้ หลักของประเทศเพิ่มชนิดขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง นอกเหนือจากข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุกที่มีอยู่แต่เดิม
3.             ปัญหาและอุปสรรค ขาดแคลนบุคลากรทางด้านเทคนิค วิชาการ และการบริหาร และต้องพึ่งเงินทุนเงินกู้จากต่างประเทศทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานตามโครงการ ผลกระทบประการสำคัญคือการกระจายรายได้ยังไม่ยุติธรรม เพราะผลจากการพัฒนาตกอยู่กับผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514)
1.             สาระสำคัญ
1.             เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเหมือนกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เช่น ขยายการชลประทาน เส้นทางคมนาคม และการสาธารณูปโภคต่างๆ ฯลฯ
2.             ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยสนับสนุนการลงทุนของชาวต่างประเทศ
3.             มุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ โดยกระจายการศึกษาและการสาธารณสุขให้ทั่วถึง เริ่มให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ
2.             ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผน ในระยะต้นของแผนพัฒนาฯ ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนทั้งจากแหล่งเงินทุนภายในและภายนอกประเทศในอัตราที่สูง แต่ระยะปลายแผนภาวะเศรษฐกิจขยายตัวช้าลงเนื่องจากราคาข้าวและยางพาราในตลาดโลกตกต่ำลง
3.             ปัญหาและอุปสรรค การทำงานของรัฐบาลมีลักษณะซ้ำซ้อนและขาดการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ งานบางโครงการไม่ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด และการกระจายรายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519)
1.             สาระสำคัญ
1.             เน้นการพัฒนาสังคมมากขึ้น เช่น การปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน การศึกษา การสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และการจัดบริการทางสังคม
2.             กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเพิ่มของประชากรเป็นครั้งแรก ให้เหลือร้อยละ 2.5 ต่อปี เมื่อสิ้นแผน
3.             กระจายความเจริญสู่ชนบทให้มากขึ้น และเน้นการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
4.             ขยายการพัฒนาปัจจัยขั้นพื้นฐาน เช่น การขยายท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าอากาศยาน จังหวัดเชียงใหม่
5.             ยกระดับการผลิตและรายได้ประชาชาติให้สูงขึ้น เน้นการพัฒนาคนและเพิ่มการมีงานทำ
6.             รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศให้มั่นคง
2.             อุปสรรคและผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผน ผลิตภัณฑ์ประชาชาติภายในประเทศมีอัตราการเพิ่มต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน (ฝนทิ้งช่วง) ตลอดระยะเวลาของ แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ และความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก เช่น การขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ ค่าเงิน ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาตกต่ำ และการถอนทหารสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศไทยเมื่อสิ้นสุดสงครามเวียดนาม เป็นต้น ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศซบเซา และมีการว่างงานสูง แต่อัตราการเพิ่มของประชากรใกล้เคียงตามเป้าหมายคือร้อยละ 2.6 ต่อปี เมื่อสิ้นแผน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524)
1.             สาระสำคัญ
1.             เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 โดยขยายการผลิต การลงทุน และเพิ่มการจ้างงานให้สูง
2.             เน้นการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยเร่งกระจายรายได้ให้ทั่วถึงและยกฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และคนยากจน
3.             ปรับปรุงคุณภาพของประชากร โดยลดอัตราการเพิ่มของประชากรให้เหลือเพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี เมื่อสิ้นแผน
4.             ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทาง เศรษฐกิจสูงสุด
2.             อุปสรรคและผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผน
1.             สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกยังไม่ดีขึ้นและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ การขึ้นราคาน้ำมันของกลุ่ม OPEC ทำให้สินค้ามีราคาสูง เกิดภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง ตลอดจนรายจ่ายภาครัฐบาลสูงขึ้นเป็นผลให้การขาดดุลการค้ากับต่างประเทศสูงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
2.             สถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนด้านกัมพูชา ทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายทางการทหารและความมั่นคงมากขึ้น
3.             ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้นกว่าในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 การผลิตโดยส่วนรวมขยายตัวตามเป้าหมาย และการลดอัตราการเพิ่มของประชากรก็อยู่ในเกณฑ์ ที่กำหนดเช่นกัน
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)
สาระสำคัญคือเน้นการพัฒนาชนบท
1.             ฟื้นฟูฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ลดการขาดดุลการค้าและการขาดดุลงบประมาณ เร่งระดมเงินออม สร้างวินัยทางเศรษฐกิจให้มีการประหยัด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
2.             ปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เพิ่มการผลิตด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมโดยการใช้พลังงานภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง
3.             การพัฒนาโครงสร้างและกระจายบริการทางสังคม เน้นการพัฒนาคุณภาพประชากรให้มีระเบียบวินัย ศีลธรรม และวัฒนธรรม จัดการศึกษาและสาธารณสุขให้ทั่วถึง และลดอัตราการเพิ่มของประชากรให้เหลือร้อยละ 1.5 ต่อปี เมื่อสิ้นแผน
4.             แก้ปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลัง ให้ประชาชนในพื้นที่ยากจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และได้รับบริการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง
5.             ประสานการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติให้สอดคล้องกัน โดยเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ
6.             ปฏิรูปการบริหารงานพัฒนาของรัฐ ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่ก้าวหน้า เพื่อลดการถือครองที่ดินไว้เก็งกำไร และกระจายการถือครองสินทรัพย์ในภาคเอกชนให้มากขึ้น เช่น ออกกฎหมายการกระจายหุ้นของสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สู่ประชาชน
การพัฒนาชนบทในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5
1.             สาเหตุของปัญหาความยากจนและความล้าหลังในชนบทเกิดจากความผิดพลาดในการวางแผนพัฒนาในอดีต เช่น การทุ่มเทการลงทุนเฉพาะเขตชนบทที่พัฒนาแล้ว เน้นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งผลประโยชน์มิได้ตอบสนองชาวชนบทที่ยากจนโดยตรง ตลอดจนมิได้เน้นให้ประชาชนพึ่งตนเอง ฯลฯ
2.             แนวทางการพัฒนาชนบทตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 มุ่งให้ความสำคัญแก่ตัวคน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ มิใช่พัฒนาแต่วัตถุเพียงอย่างเดียว
1.             ให้ความสำคัญแก่พื้นที่ยากจนหนาแน่น 38 จังหวัด โดยให้มีบริการพื้นฐานขั้นต่ำอย่างทั่วถึง
2.             เน้นให้ประชาชนมีส่วนแก้ไขปัญหาของตนเองให้มากที่สุด
3.             แก้ปัญหาที่ประชาชนเผชิญหน้าโดยตรงให้ทั่วถึง ได้แก่ ความยากจน การเจ็บไข้ได้ป่วย และการขาดแคลนน้ำใช้
3.             แผนงานพัฒนาชนบท
1.             แผนงานสร้างงานในชนบท เพื่อกระจายรายได้สู่ประชาชนในเขตชนบทให้มากขึ้น โดยเน้นพื้นที่ที่มีปัญหาการว่างงานสูงก่อน งานตามโครงการ ได้แก่ การสร้างสะพาน ขุดคลองส่งน้ำ ปลูกป่า ทำถนน ฯลฯ
2.             แผนงานกิจกรรมในระดับหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับหมู่บ้าน เช่น ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ การป้องกันโรคระบาดสัตว์ ฯลฯ
3.             แผนงานจัดบริการขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ให้บริการด้านกฎหมาย การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การจัดสร้างศูนย์อนามัยประจำตำบล เป็นต้น
4.             แผนงานการผลิต มุ่งเพิ่มผลผลิตโดยใช้เทคนิคที่ไม่ต้องลงทุนมากและชาวชนบทสามารถนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้ ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพของดิน การทดลองหาพันธุ์พืชใหม่ๆ มาปลูก และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น
ผลการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5
1.             การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มผลิตภัณฑ์รายได้ประชาชาติมีอัตราต่ำกว่าเป้าหมาย ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 4.9 ต่อปี เทียบกับเป้าหมายร้อยละ 6.6 ต่อปี ทั้งนี้ เป็นเพราะความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกและมีการแข่งขันและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
2.             การขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ เพราะการใช้จ่ายเงินเกินตัวทั้งภาครัฐบาลและเอกชน และการเก็บภาษีอากรต่ำกว่าเป้าหมายทำให้การขาดดุลการค้าและการขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับค่อนข้างสูง
3.             ปริมาณเงินออมลดต่ำลงมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐบาล ธุรกิจภาคเอกชน และครัวเรือนมีรายจ่ายมากขึ้น ส่งผลให้เงินออมลดน้อยลง และกระทบกระเทือนต่อการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมิใช่น้อย
4.             ความอ่อนแอของโครงสร้างการผลิต กล่าวคือ รายได้หลักของประเทศยังคงต้องพึ่งผลผลิตทางการเกษตรไม่กี่ชนิด จึงมักได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกอยู่เสมอ นอกจากนี้ โครงสร้างการผลิตด้านอุตสาหกรรมยังคงต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งในรูปของสินค้าทุน (เครื่องจักร) และวัตถุดิบอย่างมาก
5.             ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้
6.             การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกำลังแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534)
สาระสำคัญ
1.             การเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ สร้างงานให้ทำ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
2.             การปรับปรุงระบบการผลิต การตลาด และยกระดับคุณภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากการค้าขายระหว่างประเทศหรือการส่งออกเป็นรายได้ หลักโดยตรงของประเทศ
3.             การกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท
เป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6
เป้าหมายหลักคือเน้นการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาภายในประเทศและเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และจุดเด่นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 แตกต่างจากแผนพัฒนาฯ ฉบับอื่นๆที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนแนวทางและปรับระบบการพัฒนาประเทศให้สามารถออกไปต่อสู้แข่งขันในต่างประเทศได้อย่างจริงจัง รายละเอียดมีดังนี้
1.             การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม เน้นการสร้างงาน เพิ่มรายได้ และแก้ไขความยากจน เป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ
1.             ลดอัตราการเพิ่มประชากรจากร้อยละ 1.7 ในปี พ.ศ. 2529 ให้เหลือเพียงร้อยละ 1.3 ในปีสุดท้ายของแผน
2.             เพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลให้สูงขึ้น จาก 21,000 บาท ในปีปัจจุบัน เป็นประมาณ 28,000 บาท ในปี พ.ศ. 2534
3.             การให้ค่าครองชีพเพิ่มในอัตราต่ำ คือให้มีเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 2.3 ต่อปี
4.             เพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
2.             การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาหนี้สินของประเทศ และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น
1.             เร่งรัดให้อุตสาหกรรมขยายตัว
2.             รักษาการขยายตัวทางการเกษตรให้คงเดิม
3.             เร่งรัดการส่งออกสินค้าให้เพิ่มขึ้นและลดการนำเข้าให้น้อยลง
4.             ลดการขาดดุลการค้าให้น้อยลง
5.             ลดปัญหาหนี้สินของประเทศมิให้กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผลการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6
1.             เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในระดับสูงและเปิดกว้างเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสากลมากขึ้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 10.5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ที่ตั้งไว้ อันเนื่องมาจากการขยายตัวของการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว
2.             ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ คนไทยมีรายได้และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ภาระหนี้สินต่างประเทศลดลง และรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มสูงขึ้นจากปีละ 21,000 บาท ในปี พ.ศ. 2529 เป็น 41,000 บาท ในปี พ.ศ. 2534
3.             การพัฒนายังขาดความสมดุลอีกหลายด้าน อาทิ
1.             ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทขยายตัวเพิ่มมากขึ้น กลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มอาชีพที่ยากจนที่สุด มีรายได้น้อยที่สุด
2.             การขาดแคลนบริการพื้นฐานมีปัญหารุนแรงมาก เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และถนนหนทางต่างๆ รัฐไม่อาจสร้างให้ทันต่อความต้องการของประชาชนได้
3.             ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ประมง แร่ธาตุ และปัญหามลพิษต่างๆ เนื่องจากมีการระดมมาใช้ในอัตราที่สูง เพื่อสนองความต้องการในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
4.             ระบบราชการปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เกิดปัญหาสมองไหล และขาดแคลนบุคลากรในสาขาวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งระบบระเบียบของทางราชการล้าสมัย ล่าช้า ฯลฯ
5.             การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพย์ติด และปัญหาชุมชนแออัด เป็นต้น
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539)
วัตถุประสงค์
การพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 จำเป็นจะต้องให้มีความสมดุลระหว่าง การพัฒนาในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคมควบคู่กันไป เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพและยั่งยืน ดังนั้นจึงได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ไว้ 3 ประการดังนี้
1.             รักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ
2.             การกระจายรายได้และกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบทให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
3.             เร่งรัดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ
เป้าหมายหลัก
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักดังกล่าวข้างต้น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ได้กำหนดเป้าหมาย การพัฒนาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพไว้ดังนี้
1.             เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
1.             กำหนดให้เศรษฐกิจส่วนรวมขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 8.2 ต่อปี
2.             กำหนดให้รายได้ถัวเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มจาก 41,000 บาท ในปี พ.ศ. 2534 เป็น 71,000 บาท ในปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 หรือรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ต่อปี
3.             กำหนดให้สาขาเกษตรกรรมขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.4 ต่อปี
4.             กำหนดให้สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.5 ต่อปี
5.             กำหนดให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.7 ต่อปี หรือปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี
6.             กำหนดให้การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี จาก 280 พันบาร์เรล น้ำมันดิบต่อวัน ในปี พ.ศ. 2533 เป็น 410 พันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน ในปี พ.ศ. 2539
7.             กำหนดการเพิ่มของบริการพื้นฐานดังนี้
§  เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 14,500 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2539
§  เพิ่มจำนวนเลขหมายโทรศัพท์จากสัดส่วนปัจจุบัน 3.6 เลขหมายต่อประชากร 100 คน ให้ได้ไม่น้อยกว่า 10 เลขหมายต่อประชากร 100 คน เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7
2.             เป้าหมายการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคง
1.             กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยไม่ให้เกินร้อยละ 5.6 ต่อปี
2.             กำหนดเป้าหมายขาดดุลการค้าโดยเฉลี่ยไม่ให้เกินร้อยละ 9.4 ของผลผลิตรวมภายในประเทศ
3.             กำหนดเป้าหมายขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้ลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ของผลผลิตรวมภายในประเทศในปี พ.ศ. 2539 หรือเฉลี่ยร้อยละ 5.2 ของผลผลิตรวมภายในประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7
4.             กำหนดเป้าหมายการออมภาคเอกชนเท่ากับร้อยละ 23.0 ของผลผลิตรวมภายในประเทศในปี พ.ศ. 2539
5.             รักษาสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศให้อยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 60 ในปี พ.ศ. 2539
สรุปท้ายบท
การพัฒนาเศรษฐกิจหมายถึงการทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ การศึกษา ระบบ การปกครอง และการใช้ทรัพยากรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประเทศ สำหรับ เกณฑ์ที่ใช้วัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ
  • รายได้เฉลี่ยต่อบุคคล
  • ระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
  • มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร
  • คุณภาพของประชากรด้านการศึกษาและสาธารณสุข
นอกจากนี้ ในบทนี้ยังได้อธิบายสรุปเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ลักษณะสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และผลการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน

ที่มา : http://www.eduzones.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น