วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

     ขอนำเสนอเป็น ๔ หัวข้อ ได้แก่ ความหมายและความเป็นมาของวิชาประวัติศาสตร์ การแบ่งระยะเวลาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หลักฐานทางประวัติศาสตร์และวิธีการทางประวัติศาสตร์

 
. ความหมายและความเป็นมาของวิชาประวัติศาสตร์
          ประวัติศาสตร์ (History) คือ วิชาที่ศึกษาถึงเรื่องราวในอดีตของมนุษยชาติ ที่มีความสำคัญ ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือสมัยใดสมัยหนึ่ง ซึ่งจะต้องอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างมีเหตุผล และถูกต้องตามความเป็นจริง โดยผ่านกระบวนการไต่สวน ค้นคว้า พิจารณา วิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนและไม่มีอคติ (unbias)
             ในประเทศไทย เริ่มใช้คำว่า ประวัติศาสตร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื่องจาก คำว่า ตำนาน” (Legend) ที่ใช้กันมาแต่เดิมนั้นมักจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของท้องถิ่นหรือบุคคลในท้องถิ่นซึ่งมี ลักษณะที่แต่งเติมเกินกว่าความเป็นจริง และคำว่า พงศาวดาร” (Choronicle) ซึ่งจะจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้ครอบคลุมการศึกษาเรื่องราวในอดีตอย่างแท้จริง
             คำว่า ประวัติศาสตร์มีความหมายมาจาก “History” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากคำว่า ἱστορία - historia ในภาษากรีก ที่มีความหมายถึงการค้นคว้า การไต่สวน   เพื่อเข้าใจความเป็นมาของมนุษยชาติ     การค้นคว้าเหล่านี้จะกระทำโดยอาศัยเอกสาร หรือหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต   ตลอดจนกำเนิดของโลก และสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่ง เฮโรโดตุส (Herodotus, 484-425 ก่อนคริสตกาล) บิดาของวิชาประวัติศาสตร์แห่งโลกตะวันตก เป็นผู้ใช้วิธีการศึกษาแบบนี้เป็นคนแรก จากนั้น เลโอโปล ฟอน รันเก (Ranke)   ได้นำเอาวิธีการนี้ไปพัฒนาเป็น วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical method) เพื่อการศึกษาที่เป็นระบบยิ่งขึ้น   สำหรับบิดาของประวัติศาสตร์ในโลกตะวันออกโดยเน้นที่จีนคือ ซือหม่าเชียน ผู้เขียน สื่อจี้หรือบันทึกประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องราวตั้งแต่จีนโบราณจนถึงรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น
            
. การแบ่งระยะเวลาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (Chronology)
           ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ช่วงใหญ่ๆ คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์
             . สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric Age)
             สมัยก่อนประวัติศาสตร์   เป็นระยะเวลาเริ่มตั้งแต่มีมนุษย์พวกแรกเกิดขึ้นในโลก คือเมื่อประมาณเกือบ ๒ ล้านปีมาแล้วเรื่อยมาจนกระทั่งถึง ช่วงเวลาที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์อักษรขึ้นมา เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น จึงกล่าวได้ว่า ในสมัยนี้มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร ฉะนั้นเราจึงเรียกยุคนี้ว่า ยุคก่อนรู้หนังสือ” (Preliterate Age) มนุษย์สมัยนี้เป็นระยะเวลาที่มนุษย์ยังมีความรู้ทางเทคโนโลยีในระดับต่ำ ซึ่งเห็นได้จากบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ ในการดำรงชีวิตจะเป็นแบบง่าย ๆ เช่น เครื่องมือหยาบๆที่ทำด้วยหิน กระดูกสัตว์ และไม้ จึงทำให้นักโบราณคดีเรียกสมัยนี้ว่า   ยุคหิน” (Age of stone) สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือยุคหินนี้สามารถแยกย่อยเป็น ๔ ยุค ได้แก่
             ๑. ยุคหินแรก (Eolithic Age) อยู่ในระยะยุคน้ำแข็งแรกที่ปกคลุมโลกภาคเหนือ เมื่อ ๒พันล้านปีมาแล้ว สันนิษฐานว่ามนุษย์เกิดขึ้นในยุคนี้ เป็นยุคของการลองผิดลองถูก ไม่รู้จักการป้องกันตนเอง ยังไม่รู้จักการนุ่งห่ม ใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน โครงกระดูกมนุษย์ยุคนี้มีลักษณะโค้งคือยังยืนไม่ตรง หน้าผากแคบ
             ๒. ยุคหินเก่า (Paleolithic Age or Old Stone Age) ในยุคนี้ มนุษย์รู้จักประดิษฐ์เครื่องใช้ ที่ทำด้วยหินอย่างหยาบ ๆ ที่เรียกว่า เครื่องมือหินกะเทาะ หรือทำจากกระดูกสัตว์ ดำรงชีวิตด้วยการเก็บหาผลไม้ในป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร จึงต้องอพยพติดตามฝูงสัตว์ไปเรื่อย ๆ ทำให้ไม่เกิดชุมชนขนาดใหญ่ และเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายก็จะอาศัยตามถ้ำ ชะง่อนผา เริ่มรู้จักใช้ไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ให้แสงสว่าง และหุงต้มอาหารท นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีกรรมฝังศพคนตาย
             ความสามารถด้านจิตรกรรมของพวกมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon Man) ซึ่งมีหลักฐานว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงนี้ พวกนี้มีความชำนาญในการวาดภาพ และการแกะสลัก โดยเฉพาะการวาดภาพ ตามผนังถ้ำ เช่น ภาพวัวไบซอน ซึ่งพบในถ้ำอัลตามิรา (Alta Mira) ในประเทศสเปน เป็นต้น เรื่องราวของภาพส่วนใหญ่แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิต เช่น การล่าสัตว์ ภาพดังกล่าวมิใช่ลักษณะ ที่ต้องการให้เห็นถึงความสวยงาม แต่ต้องการเชื่อมโยงกับความเชื่อบางอย่าง หรือความหมายในทางศักดิ์สิทธิ์ หรือการบวงสรวง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจวิเศษและความโชคดีในการออกไปล่าสัตว์
             ๓. ยุคหินกลาง (Mesolithic Age or Middle Stone Age) เริ่มตั้งแต่ ๘,๐๐๐ ปีถึง ๖,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล สภาพทางภูมิศาสตร์และชีววิทยาของโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง อากาศเริ่มอบอุ่น เนื่องจากน้ำแข็งละลาย มนุษย์รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รู้จักสร้างบ้านสร้างเรือน ที่อยู่อาศัยด้วยไม้ แทนการอาศัยอยู่ในถ้ำเหมือนสมัยก่อน เครื่องมือเครื่องใช้ ก็รู้จักปรับปรุงให้ดีขึ้นและมีมากชนิดขึ้น เริ่มรู้จักเลี้ยงสัตว์เลี้ยง คือ สุนัขซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดแรกของมนุษย์ด้วยโดยเลี้ยงไว้ช่วยระวังภัย และช่วยในการล่าสัตว์ เริ่มรู้จักทำเกษตรกรรมอย่างง่ายๆ รู้จักปั้นหม้อไหอย่างหยาบๆ ด้วยดินเหนียวและนำไปตากแห้ง
             ๔. ยุคหินใหม่ (Neolithic Age or New Stone Age) เป็นยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากเดิมที่เคยเป็นพรานป่าล่าสัตว์ เร่ร่อนติดตามฝูงสัตว์ และอาศัยอยู่ตามถ้ำมาเป็นเกษตรกร อาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง และผลิตอาหารได้เอง เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน ได้รับการขัดเกลาให้แหลมคมจนมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดีเรียกว่า เครื่องมือหินขัด จุดเด่นของยุคหินใหม่ อยู่ที่มนุษย์รู้จักการทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผา มาใช้ในบ้านเรือน และจากการที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกจึงรู้จักนำเส้นใยของพืชมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม
                จากการที่มนุษย์หยุดเร่ร่อนและตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย มีการสร้างบ้านเรือนใกล้กับแหล่งเพาะปลูก เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันและเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดรูปแบบการปกครองชุมชน มีหัวหน้าที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด ทำให้รูปแบบของบ้านเมืองพัฒนาจากบ้านเป็นหมู่บ้าน เป็นนครรัฐ (City State) เป็นแคว้น และเป็นอาณาจักร มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมความเจริญ เพื่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต และเพื่อสนองตอบต่อความศรัทธา ที่มีต่อเทพเจ้าที่ตนนับถือ เช่น อนุสาวรีย์หิน (Megalithic) ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมของมนุษย์ พบในประเทศ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และอังกฤษ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษนั้น คือ สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าสร้างสร้างขึ้นเพื่อบวงสรวงสุริยเทพ เพื่อให้เกิดผลดีต่อการเพาะปลูก หรือเพื่อใช้คำนวณเวลา โดยสังเกตเงาจากดวงอาทิตย์
 

           . สมัยประวัติศาสตร์ (History Age)
             สมัยประวัติศาสตร์นี้มี ๒ มุมมองด้วยกัน มุมมองแรกคือมุมมองของนักโบราณคดี  อีกมุมมองหนึ่งเป็นมุมมองของนักประวัติศาสตร์
             มุมมองของนักโบราณคดี ถือเอาการค้นพบโลหะของมนุษย์เป็นการสิ้นสุดยุคหินและเรียกระยะเวลาหลังจากยุคหินว่า ยุคโลหะ” (The Age of Metals) ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ ๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล และสามารถแยกย่อยได้เป็น
             ๑. ยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) มนุษย์รู้จักนำแร่ดีบุกและทองแดงมาผสมกันเป็นทองสัมฤทธิ์
             ๒. ยุคเหล็ก (Iron Age) มนุษย์เริ่มรู้จักนำเหล็กมาใช้เป็นเครื่องมือและอาวุธ หลักฐานการใช้เหล็กนัยว่ามีมาแล้วเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือ ๑,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล ในอาณาจักรบาบิโลเนีย และเริ่มเจริญรุ่งเรืองถึงขนาดเป็นเครื่องยนต์กลไกใช้ใช้แทนแรงคน แรงสัตว์ เจริญเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
            

             มุมมองของนักประวัติศาสตร์ ถือเอาการที่มนุษย์รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร ขึ้นใช้เป็นเครื่องสื่อความหมายและบันทึกเรื่องราวต่างๆ   เมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล (อยู่ในยุคสัมฤทธิ์)     การที่มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้ตัวอักษรนี้เอง     จึงเรียกยุคนี้ว่า ยุครู้หนังสือ” (Literate Age) แยกย่อยได้ดังนี้
             ๑. สมัยโบราณ (Ancient Age) เริ่มตั้งแต่ ๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยนี้มนุษย์ได้ตั้งหลักแหล่งเป็นแว่นแคว้นหรือหรืออาณาจักรแล้ว มีตัวอักษรและอารยธรรมแบบคนเมือง ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแหล่งอุดมสมบูรณ์ คือ ลุ่มแม่น้ำและชายฝั่งทะเล ได้แก่ เมโสโปเตเมีย (ลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส มีอาณาจักรสำคัญ เช่น สุเมเรียน บาบิโลเนีย ฟินิเชีย อัสซิเรีย คาลเดีย เปอร์เซีย)   อียิปต์ (ลุ่มแม่น้ำไนล์)   อินเดีย (ลุ่มแม่น้ำสินธุ คงคา)   จีน (ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ฉางเจียง)   กรีก โรมัน (ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) ประวัติศาสตร์สมัยโบราณสิ้นสุดลง เมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลาย จากการถูกอนารยชน เผ่าติวโตนิครุกรานเมื่อ ค.ศ. ๔๗๖

             ๒. สมัยกลาง (Medieval Age) เริ่มเมื่อ ค.ศ. ๔๗๖   โดยเริ่มเมื่อชนชาติต่างๆในยุโรป ฟื้นตัวจากอำนาจการรุกรานของบรรดาอนารยชนเผ่าต่าง ๆ และเริ่มก่อตั้งเป็นอาราจักรต่าง ๆ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เช่น พวกแองโกลแซกซอนตั้งอาณาจักรอังกฤษ พวกฟรังก์ตั้งอาณาจักรฝรั่งเศส พวกเยอรมันตั้งอาณาจักรปรัสเซีย พวกมัสโกวีตั้งอาณาจักรรุสเซีย เป็นต้น
             สมัยนี้คริสตศาสนาเริ่มขยายอิทธิพลครอบคลุมไปทั่วยุโรป ศาสนาจักรซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่องค์สันตะปาปามีอำนาจและอิทธิพลสูง ส่วนทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเป็นระบบ ศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism)   ในปลายสมัยกลางเริ่มมีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันที่เรียกว่า สมัยเรอแนสซองส์” (Renaissance)
            
             ๓. สมัยใหม่ (Modern Age) ปีเริ่มต้นสมัยใหม่นี้ยังคงมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ นักประวัติศาสตร์บางท่านถือเอาปี ค.ศ. ๑๔๕๓ คือปีที่ โรมันตะวันออก (ไบแซนไทน์) ถูกพวกเตอร์กแห่งจักรวรรดิออตโตมันเข้าทำลาย     บางท่านถือเอา ค.ศ. ๑๔๙๒   อันเป็นปีที่ โคลัมบัส ค้นพบโลกใหม่ บางท่านถือเอา ค.ศ. ๑๖๔๙ อันเป็นปีที่ประเทศอังกฤษ เปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์มาเป็นการปกครองที่สามัญชนเข้ามามีอำนาจสูงสุด คือโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ตั้งตนเป็นผู้รักษาประเทศ (Protector of Republic Called the Commonwealth) แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ก็ถือว่า ประวัติศาสตร์สมัยใหม่เริ่มต้นราวศตวรรษที่ ๑๕
             ในสมัยใหม่นี้ คริสต์ศาสนาเสื่อมอำนาจลง เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) อันนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)   ระบบศักดินาสวามิภักดิ์และระบอบราชาธิปไตยเสื่อมอำนาจลง จนเกิดการปฏิวัติล้มล้างสถาบันกษัตริย์ในฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙)   ระยะนี้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแพร่หลายอย่างมาก เป็นผลให้เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยหลายแห่ง เช่น การปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๖)   เกิดรัฐประชาชาติ (ประเทศ) เกิดลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) ในอังกฤษ   ฝรั่งเศส   สเปน   ฮอลันดา   โปรตุเกส   ญี่ปุ่น ซึ่งต่างแย่งชิงและแผ่แสนยานุภาพไปยัง เอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา จนนำไปสู่ความขัดแย้งและเกิดเป็น สงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔๑๙๑๘) และสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๑๙๓๙๑๙๔๕) ประวัติศาสตร์สมัยใหม่สิ้นสุดลงตรงนี้

             . ประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันหรือประวัติศาสตร์ร่วมสมัย (Present Age or Contemporary Age) เริ่มตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ โลกในยุคนี้เริ่มเข้าสู่ยุคสงคราเย็น (Cold War)   ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ความแตกต่างของอุดมการณ์การเมือง   ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิประชาธิปไตย   นำไปสู่ความตึงเครียดบนเวทีการเมืองโลกนานกว่า ๔๕ ปี จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๙๐๑๙๙๑ บรรดาสาธารณรัฐต่างๆที่รวมอยู่ในสหภาพโซเวียตพากันเรียกร้องเอกราช ต้องการปกครองตนเอง   เกิดเหตุการณ์วุ่นวายไปทั่วประเทศ   เมื่อประกอบกับการก่อรัฐประหารรัฐบาล นายมิคาอิล กอร์บาชอฟซึ่งแม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้บรรดาสาธารณรัฐต่าง ๆ ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชโดยผนึกกำลังกันเป็นเครือจักรภพรัฐเอกราช (The Commonwealth of Independent State : CIS) จนนายกอร์บาชอฟลาออก   และถือว่าเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและสิ้นสุดของสงครามเย็นด้วย หลังจากนั้นมาสหรัฐอเมริกาก็มีบทบาทโดดเด่น บนเวทีการเมืองโลกเพียงผู้เดียว เรียกว่า เอกะอภิมหาอำนาจ (Uni-Superpower) และด้วยการที่สหรัฐ สนับสนุนอิสราเอลในปัญหาปาเลสไตน์ทำให้ชาวอาหรับโกรธแค้นสหรัฐ จึงเกิดการก่อวินาศกรรมจี้เครื่องบินพุ่งชนตึก World Trade Center ในนครนิวยอร์ค ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของเครือข่ายก่อการร้าย อัล กอย ดะห์ ของนายอุสมะห์ บิน ลาดิน (Usama Bin Ladin)   สหรัฐจึงตอบโต้โดยโจมตีอาฟกานิสถาน ซึ่งเป็นชาติที่สนับสนุน นายบินลาดิน และสามารถล้มล้างรัฐบาลทอลีบัน (Taliban) ลงได้ เรียกว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” (War against Terrorism) นับเป็นการเปิดฉากของการต่อสู่กับชาติอาหรับซึ่งเป็นศัตรูตัวใหม่ของสหรัฐอเมริกา
 


. หลักฐานทางประวัติศาสตร์ (Historical Sources)
          หลักฐานทางประวัติศาสตร์ หมายถึง ร่องรอยการกระทำ การพูด การเขียน การประดิษฐ์ การอยู่อาศัยของมนุษย์ หรือลึกไปกว่าที่ปรากฏอยู่ภายนอก คือ ความคิดอ่าน โลกทัศน์ ความรู้สึก ประเพณีปฏิบัติของมนุษย์ในอดีต ความรู้สึกของคนในปัจจุบัน สิ่งที่มนุษย์จับต้องและทิ้งร่องรอยไว้ กล่าวได้ว่าอะไรก็ตามที่มาเกี่ยวพันกับมนุษย์ หรือมนุษย์เข้าไปเกี่ยวพันสามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ทั้งสิ้น


             การแบ่งประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
          
   . แบ่งตามยุคสมัย            
๑. หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ หลักฐานที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเป็นอักษร แต่เป็นพวกซากโครงกระดูกมนุษย์ ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ  ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ตลอดจนความพยายามที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ในลักษณะของการบอกเล่าต่อๆกันมา เป็นนิทานหรือตำนานซึ่งเราเรียกว่า มุขปาฐะ
                ๒. หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ คือ หลักฐานสมัยที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ตัวอักษร และบันทึกในวัสดุต่างๆ มีร่องรอยที่แน่นอนเกี่ยวกับสังคมเมือง  มีการรู้จักใช้เหล็ก และโลหะอื่นๆ มาเป็นเครื่องมือใช้สอยที่ประณีต มีร่องรอยศาสนสถานและประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาอย่างชัดเจน
             ๒. แบ่งตามลักษณะหรือวิธีการบันทึก
                ๑. หลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ เอกสารทางวิชาการ ชีวประวัติ จดหมายส่วนตัว หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร กฎหมาย วรรณกรรม ตำรา วิทยานิพนธ์ งานวิจัย ในการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย มีการเน้นการฝึกฝนทักษะการใช้หลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร เป็นส่วนใหญ่ จนอาจกล่าวได้ว่าหลักฐานประเภทนี้เป็นแก่นของงานทางประวัติศาสตร์ไทย
                ๒. หลักฐานไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานโบราณคดี เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ เงินตรา หลักฐานจากการบอกเล่า ที่เรียกว่า มุขปาฐะ หลักฐานด้านภาษา เกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาพูด หลักฐานทางศิลปกรรม ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ หลักฐานประเภทโสตทัศน์   ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพสไสด์ แผนที่ โปสเตอร์ แถบบันทึกเสียง แผ่นเสียง ภาพยนตร์ ดวงตราไปรษณียากร
             ๓. แบ่งตามลำดับความสำคัญ 
                ๑. หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ (Primary sources) หมายถึง หลักฐานที่บันทึก สร้าง หรือจัดทำขึ้น โดยผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง     หรือบ่งบอกให้รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นจริงๆ    ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร   เช่น สนธิสัญญา บันทึกคำให้การ จดหมายเหตุ กฎหมาย ประกาศของทางราชการ ศิลาจารึก จดหมายโต้ตอบ และที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ภาพเขียนสีผนังถ้ำ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ เจดีย์
                ๒. หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ (Secondary sources) หมายถึง หลักฐานที่เกิดจากการนำหลักฐานชั้นต้นมาวิเคราะห์ ตีความเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้ว ได้แก่ ตำนาน พงศาวดาร
                นักประวัติศาสตร์บางท่านยังได้แบ่งหลักฐานประวัติศาสตร์ออกไปอีกเป็น หลักฐานชั้นที่สามหรือตติยภูมิ (Tertiary sources) หมายถึง หลักฐานที่เขียนหรือรวบรวมขึ้น จากหลักฐานปฐมภูมิและทุติยภูมิ   เพื่อประโยชน์ในการศึกษาอ้างอิง เช่น สารานุกรม หนังสือแบบเรียน และบทความทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ


. วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Method)
          วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการ (Process) ในการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ดังนี้       
          . การกำหนดเป้าหมายในการศึกษา   ผู้ศึกษาต้องมีความต้องการที่ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร สมัยใด และเพราะเหตุใด
             ๒. การค้นหา รวบรวมและคัดเลือกหลักฐาน   เป็นขั้นตอนที่ต้องกระทำตั้งแต่แรกเริ่ม และตลอดระยะเวลาที่ค้นคว้าโดยจะต้องรวบรวม คัดเลือก และติดตามหลักฐานที่อาจจะมีการค้นพบใหม่หรือตีความใหม่อยู่เสมอ
           ๓. การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐาน เป็นขั้นมุ่งวิเคราะห์และพิสูจน์หลักฐานว่า เป็นของจริงหรือของปลอมซึ่งเรียกว่า การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐานจากภายนอก และวิเคราะห์ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด ซึ่งเรียกว่า การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐานจากภายใน
             . การตีความ (Interpretation) เป็นขั้นการตีความ เพื่อพยายามค้นหาความหมาย และความสำคัญแท้จริงที่ปรากฏในหลักฐาน รวมทั้งความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริงเพื่อสามารถนำไปใช้ในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ หรือสามารถใช้อธิบายข้อสมมติฐานที่ตั้งขึ้น
             ๕. การสังเคราะห์หรือเรียบเรียงเรื่องราว (Synthesis)   เป็นขั้นของการนำข้อมูลที่วิเคราะห์ และตีความแล้ว มาเรียบเรียงเข้าด้วยกันในลักษณะที่สัมพันธ์กันอย่างมีกฎเกณฑ์ และเป็นเหตุเป็นผลน่าเชื่อถือ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น